กินอย่างไรให้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งในประเทศไทยของเราก็มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโรคอัลไซเมอร์ ไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ ชนิดไม่ละลายน้ำ
ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ ดังนั้น การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ก็จะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น
จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรมในที่สุด ซึ่งวันนี้ทาง SN Food อาหารเพื่อสุขภาพ เราจะมาแนะนำเคล็ดลับการรับประทานอาหารให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงๆลืมๆ ช่วยบำรุงระบบสมองอีกด้วย
หลายคนคงเคยได้ยินว่า แปะก๊วย มีสรรพคุณช่วยบำรุงความจำ เสริมสร้างการทำงานของสมอง ป้องกันและชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์รวมถึงภาวะสมองเสื่อมทั้งหลาย โดยเชื่อกันว่าแปะก๊วยมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะป้องกันไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลาย ช่วยในการทำงานของสารสื่อประสาท
รวมทั้งป้องกันการสะสมของอะไมลอยด์ สารโปรตีนชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าอาจไปสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมองและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่ผลการศึกษาพบว่าแปะก๊วยไม่สามารถช่วยลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมแต่อย่างใด แต่เราสามารถปฏิบัติตัวให้แข็งแรงห่างไกลโรคอัลไวเมอร์ได้โดย ควบคุมน้ำหนักตัว ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงการสูบบุหรี่และโรคอ้วน รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมหมั่นดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์
รับประทานอาหารครบ3มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าจะทำให้สมองทำงานได้ดี มื้อเช้าควรประกอบด้วย อย่างน้อย ข้าว-แป้งหรือธัญพืชและเนื้อสัตว์เสริมด้วยผักผลไม้ เลือกรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว รับประทานผักโดยเฉพาะผักที่มีสีเขียวเข้มและหลากสีหรือผลไม้อย่างเหมาะสม ควบคุมการรับประทานผลไม้รสหวานผักและผลไม้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระใยอาหารวิตามินซีและโฟเลต นอกจากนี้ ให้รับประทานปลาน้ำจืดสลับกับทะเล ไข่
เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์เป็นประจำ ดื่มนมและผลิตภัณฑ์เป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด เลือกใช้น้ำมันพืชที่ดีอย่างเหมาะสมกับการประกอบอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และอาหารที่มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนสารโลหะหนักหรือสารเคมี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญอย่างมากคือควรงดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย